- Rapid Antigen Test คือ การตรวจหาเชื้อโควิด-19 โดยใช้วิธีการ Swab เก็บตัวอย่างสารคัดหลั่ง ที่บริเวณจมูกลึกถึงคอ เก็บจากลำคอ หรือเก็บจากบริเวณอื่น ขึ้นอยู่กับวิธีการเก็บตัวอย่างของชุดการตรวจนั้น ๆ ซึ่งวิธีการตรวจนี้ ผู้ตรวจจะต้องรับเชื้อมาแล้ว 5 – 14 วัน ถึงจะได้ผลลัพธ์ที่แม่นยำ เพราะหากเชื้อไวรัสที่มีอยู่น้อย ก็อาจทำให้วิธีการตรวจนี้ไม่พบเชื้อ ดังนั้น จำเป็นจะต้องไปตรวจแบบ RT-PCR ซ้ำที่โรงพยาบาล
- Rapid Antibody Test คือ การตรวจหาภูมิคุ้มกันโควิด-19 โดยใช้วิธีการเจาะเลือดที่บริเวณปลายนิ้วหรือท้องแขน ผู้ตรวจจะต้องรับเชื้อมาแล้ว 10 วันขึ้นไป ถึงจะตรวจเจอภูมิคุ้มกัน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น วิธีการตรวจนี้มีโอกาสคลาดเคลื่อนสูง เพราะภูมิคุ้มกันโควิด-19 ไม่ได้มาจากการติดเชื้อเพียงอย่างเดียว แต่อาจจะมาจากการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 หรือแม้กระทั่งผู้ป่วยโควิด-19 ที่หายป่วยดีแล้ว ก็สามารถตรวจพบได้
ชุดตรวจรวดเร็ว (Rapid Test) มี 2 แบบ คือตรวจหาเชื้อ (Antigen) และตรวจหาภูมิคุ้มกัน (Antibody) หลายคนอาจยังสงสัยอยู่ว่าทั้งสองแบบนั้นต่างกันอย่างไร เราได้สรุปข้อมูลที่คุณควรรู้มาให้แล้ว แต่อย่างไรก็ตาม ชุดตรวจรวดเร็วที่กระทรวงสาธารณสุขแนะนำให้ใช้คือชุดตรวจแบบ Rapid Antigen Test เท่านั้น และอย่าลืมว่าการตรวจแบบ Rapid Antigen Test เป็นเพียงการตรวจเบื้องต้น ถ้าผลตรวจออกมาเป็นบวกก็ควรตรวจซ้ำอีกครั้งด้วยวิธี RT-PCR หรือถ้าผลออกมาเป็นลบแต่ว่ามีอาการหรือมีประวัติเสี่ยง ก็ควรตรวจซ้ำอีกครั้งด้วยวิธี RT-PCR เช่นกัน
ข้อควรระวังในการใช้งาน
- เก็บรักษาชุดตรวจในอุณหภูมิที่กำหนดและตรวจสอบวันหมดอายุก่อนใช้งาน
- เตรียมพื้นที่สำหรับการตรวจที่เหมาะสม ทำความสะอาดพื้นที่ที่จะวางแผ่นตรวจด้วยแอลกอฮอล์
- อย่าเปิดหรือฉีกบรรจุภัณฑ์จนกว่าจะใช้งาน
- ไม่ใช้อุปกรณ์หรือตลับทดสอบซ้ำ
การเตรียมตัวก่อนเริ่มตรวจ [คำแนะนำจากระบบบริการสุขภาพแห่งชาติของสหราชอาณาจักร (NHS)]
- ไม่ควรดื่มหรือทานอาหาร ก่อนการตรวจเชื้ออย่างน้อย 30 นาที
- หากเพิ่งมีเลือดกำเดาไม่เกิน 24 ชั่วโมง ให้หลีกเลี่ยงการตรวจไปก่อน หรือให้ตรวจจากรูจมูกข้างที่ไม่มีเลือดกำเดาไหล
- หากเจาะจมูก ต้องถอดห่วงหรือจิลที่เจาะจมูกออกก่อนทำการตรวจ พยายามหลีกเลี่ยงการตรวจจากจมูกข้างที่เจาะ
วิธีการใช้ชุดตรวจ Rapid Antigen Test
- ล้างมือด้วยสบู่ น้ำสะอาด และเจลแอลกอฮอล์
- เริ่มเก็บตัวอย่างเชื้อ ด้วยการใช้ก้านสำลีสำหรับ swab โดยทำตามคำแนะนำที่มากับชุดตรวจอย่างเคร่งครัด เช่น การแหย่จมูก การแหย่ลำคอ กระพุ้งแก้ม เป็นต้น ซึ่งจะหมุนก้านลำสีประมาณ 3 – 4 ครั้ง หรือ 3 วินาที
- นำก้านสำลีมาหมุนใส่หลอดที่มีสารละลายตรวจเชื้อ หมุนวนอย่างน้อย 5 ครั้ง หรือ 15 วินาที แล้วบีบสำลีให้แห้งผ่านหลอด ห้ามให้มือสัมผัสกับก้านสำลีหรือสารละลายเด็ดขาด
- เมื่อเสร็จแล้วให้นำก้านสำลีทิ้งใส่ซีล และหยดสารละลายลงในแท่นตรวจ ตามจำนวนหยดที่ชุดตรวจกำหนดไว้ รอผล 15 – 30 นาที
วิธีอ่านค่าผลตรวจ
- หากตรงตัวอักษร C ขึ้นขีดเดียว แปลว่า ผลตรวจเป็นลบ (ไม่ติดเชื้อ)
- หากตรงตัวอักษร C และ T ขึ้น 2 ขีด แปลว่า ผลตรวจเป็นบวก (พบเชื้อ)
- หากไม่มีขีดที่ตัว C และ T หรือปรากฎแค่ตรง T แปลว่า แผ่นทดสอบเสีย
กรณีผลเป็นบวก (พบเชื้อ) ให้ปฏิบัติดังนี้
- เข้ารับการตรวจยืนยันผลแบบ RT-PCR ซ้ำที่โรงพยาบาล
- ระหว่างนั้นให้กักตัวเองแยกจากผู้อื่นและหลีกเลี่ยงการใช้ของร่วมกัน
- แจ้งผู้ใกล้ชิดที่มีความเสี่ยง ให้เข้ารับการตรวจเชื้อ
กรณีผลเป็นลบ (ไม่พบเชื้อหรือเชื้อมีปริมาณไม่มากพอ) ให้ปฏิบัติดังนี้
- หากเป็นผู้ที่สงสัยว่าอาจจะติด ให้ทำการทดสอบซ้ำอีกใน 5 – 7 วัน ในระหว่างนั้นต้องกักตัวแยกจากผู้อื่นเช่นเดียวกับผู้ติดเชื้อ
- หากมีอาการของโรคโควิด-19 ให้ทำการทดสอบซ้ำทันที โดยเฉพาะหากมีอาการทางเกี่ยวกับการหายใจ ให้ไปตรวจซ้ำด้วยวิธี RT-PCR ทันที
วิธีทิ้งชุดตรวจหลังตรวจเสร็จ
ควรใส่ชุดตรวจที่ใช้แล้วลงซีล แล้วทิ้งในถุงขยะแยกจากขยะอื่น ๆ โดยต้องปิดปากถุงขยะให้แน่นหนาและมิดชิด ไม่ให้ขยะหลุดรอดออกมา เป็นไปได้ควรใส่ขยะในถุงสีแดง เพราะใช้สำหรับใส่ขยะติดเชื้อ หรืออาจแปะป้าย/ทำสัญลักษณ์ ให้รู้ว่าเป็นขยะติดเชื้อ
ข้อมูลจาก กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และกระทรวงสาธารณสุข